ว่ากันด้วยเรื่องของ "เรซูเม่ (Resume)" ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลได้ว่า "ประวัติโดยย่อ" หลักๆ ใช้เพื่อส่งประวัติย่อๆ ของเราเพื่อสมัครงาน หรือเพื่อให้ผู้อ่านรู้จักเราคร่าวๆ นั่นเอง
หลายๆ องค์กรอาจจะบอกเราว่าขอ CV (Cirriculum Vitae) ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลได้ว่า "เรื่องราวชีวิต" หรือ Profile - โปรไฟล์ ทั้ง 3 คำ ถ้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจริงๆ จะเจอว่ามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
แต่โดยรวมแล้ว Resume / CV / Profile คือการขอประวัติส่วนตัวเรานั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเตรียมให้ดี หากคุณต้องการสมัครงาน และอยากให้ผู้อ่านสนใจ และเลือกที่จะติดต่อคุณก่อนใคร
ซึ่งเรซูเม่ในยุคที่คนเราต้องเจอข้อมูลเยอะๆ มีเทคนิคทำให้น่าอ่านในเวลาสั้นๆ ได้แบบนี้ค่ะ
1. Template - เลือกรูปแบบให้น่าสนใจ
เดี๋ยวนี้มีรูปแบบสำเร็จรูปให้ดาวน์โหลดฟรีได้เยอะ แบบไม่ฟรีก็มี ซึ่งสามารถเซิชหาดูตัวอย่างได้ทาง Google, Canva เลย การเลือกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสายอาชีพที่เรากำลังสมัครด้วย สำหรับสายดีไซน์ artist ก็โชว์ความเป็นศิลปินให้เต็มที่ แต่สำหรับสายบุคคลทั่วไป แนะนำง่าย ๆ แบบนี้ค่ะ
- ให้เลือกรูปแบบที่ไม่ฉูดฉาดมาก ดูเรียบร้อย สะอาดตา อ่านง่าย วางข้อมูลแล้วดูชัดเจน
- ให้เลือกที่มีพื้นที่สีขาวเยอะหน่อย เผื่อต้องปรินต์ จะได้อ่านง่าย ไม่เปลืองหมึก
2. การจัดวาง - Keep it simple ให้ดูง่าย
- แบ่งหัวข้อเรื่องแต่ละส่วนให้ชัดเจน โดยใช้หัวข้อเป็นตัวหนา หรือสีที่แตกต่าง
- แยกส่วนเนื้อหาให้ดูง่าย เช่น ข้อมูลส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ทักษะความสามารถ หรือกิจกรรมอื่นๆ
- ไม่แนะนำให้ใช้กราฟิกเยอะ ๆ เช่น skill เป็นหลอด เป็นจุด ๆ หรือแม้แต่ pie chart เพราะมาตรฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบางที่ใช้โปรแกรมในการสแกนเรซูเม่ด้วย อาจจะอ่านข้อมูลตรงนั้นไม่ออก
3. จัดลำดับข้อมูลให้สิ่งที่อัพเดทมาก่อน
- ส่วนแรกที่ควรเห็นได้ชัด คือ ข้อมูลส่วนตัวที่อัพเดท ทั้งเบอร์โทร อีเมล ฯลฯ
- ส่วนอื่น ๆ เช่น ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ให้เอาปีที่อัพเดทล่าสุดไว้ด้านบน เรียงจากใหม่ไปเก่า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นข้อมูลล่าสุดได้ไว ๆ แม้จะอ่านแบบสแกน ๆ
4. ไฮไลต์ Key Skills - ทักษะที่สำคัญ
เราอาจมีทักษะหลายๆ ด้าน แต่เลือกอันที่เราถนัดที่สุด เป็นจุดขายที่สุด ไว้ในจุดที่เด่นที่สุด โดยเฉพาะทักษะที่ตรงกับที่ตำแหน่งนั้นๆ ต้องการ (นั่นแปลว่า เราอาจมีเรซูเม่หลายเวอร์ชั่น ไว้เผื่อส่งในตำแหน่งที่แตกต่างกันก็ได้)
5. ใส่ประสบการณ์เป็น Bullet Point เป็นข้อๆ เอาที่เด่นๆ ก็พอ
ในแต่ละตำแหน่ง เราควรอธิบายเพิ่มเติมว่าตำแหน่งนั้นรับผิดชอบอะไรบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งหมด ซึ่งบางท่านมีประสบการณ์หลายตำแหน่ง เรซูเม่ยาวไป 7 หน้าก็มี
ดังนั้นให้ใส่ข้อเด่นๆ ที่จะเป็นจุดขายของเราในรูปแบบ Bullet Point หัวขอย่อย ให้ผู้อ่านจับความได้ง่ายๆ ดีกว่าใส่มาเป็นย่อหน้ายาวๆ
6. สรุปความเป็นตัวเอง ในย่อหน้าแรก
หลายๆ คนมักมองข้ามส่วนนี้ ซึ่งเราสามารถสรุปเรื่องราวของเราเป็นประโยคสั้นๆ ให้ผู้อ่านเห็นแล้วเข้าใจทันที
เช่น "ดิฉันมีความเชี่ยวชาญในด้านการโค้ชชิ่ง โดยเน้นด้านการสื่อสาร การนำเสนอ และการโน้มน้าวผู้คน รวมถึงการพัฒนาธุรกิจรวมมากกว่า 17 ปี โดยได้เป็นวิทยากร และเมนเทอร์เรื่องการสื่อสาร และการนำเสนอมามากกว่า 200 ทีม หรือมากกว่า 5,000 คน”
เช่น "ผมเชี่ยวชาญเรื่องการพูดต่อหน้าสาธารณชน และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ามากว่า 10 ปี รวมถึงมีประสบการณ์ในเรื่องการทำการตลาด และการขาย B2B มากว่า 5 ปี"
7. กิจกรรม และทักษะอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับงานนั้นโดยตรง
การใส่ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เคยทำกิจกรรมอะไรตอนเรียน เคยเป็นอาสาสมัครที่ไหน หรือมีกิจกรรมอะไรพิเศษ เรียนอะไรพิเศษมาเพิ่มเติม จะเป็นส่วนช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นด้านอื่นๆ ของเราได้เพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้เค้าอยากรู้จักเรามากขึ้นด้วย
8. การตั้งชื่อไฟล์ให้ชัดเจน
จัดการเตรียมข้อมูลมาดิบดีทั้งที อย่ามาตกม้าตายตอนตั้งชื่อไฟล์นะคะ ใส่ชื่อให้ชัดๆ เช่น ChayanatC_Resume.pdf (ชื่อจริง/นามสกุลตัวแรก_Resume) เผื่อชื่อซ้ำกัน จะได้หาง่ายขึ้น หรือจะใช้ชื่อนามสกุลเต็มเลยก็ได้ ส่วนตัวแอมไม่ใช้ เพราะนามสกุลยาวมากกกค่าาา
สำหรับทุกท่านที่กำลังหางาน หรือเตรียมเรซูเม่อยู่ เอาเทคนิคนี้ไปปรับใช้ได้นะคะ หาดูตัวอย่างเยอะๆ จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เรซูเม่พัฒนาไปหลายรูปแบบที่สร้างสรรค์มาก
ดังนั้น มาสร้างเรซูเม่ที่ส่งให้ HR แล้วคนอ่านอยากอ่านต่อ อยากรู้จักมากกว่านี้กันเถอะค่ะ
อย่าลืมว่าเรซูเม่เป็นประตูบานแรกของคุณนะคะ